เขื่อนท่างิ้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอันสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง แถมยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง การรองรับน้ำฝนที่ตกลงอย่างมากในช่วงหน้าฝน การผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อการนันทนาการและการท่องเที่ยว ความเป็นมาของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2532 ชาวตำบลท่างิ้ว ตำบลหนองช้างแล่น และตำบลห้วยนาง อำเภอห้วยยอด ได้มีหนังสือขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำ ไปยังสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งต่อมา สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือขอให้กรมชลประทาน พิจารณา เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณารับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนเป็นที่มาของก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ในช่วงระหว่างปี 2537-2543 รวมระยะเวลา 7 ปี ด้วยงบประมาณ 256,118,145 ล้านบาท วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง "อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว" ที่สำคัญที่สุดก็เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ จากต้นน้ำที่บริเวณหุบเขาควนหินแก้ว เหนือน้ำตกหลาด่าน เพื่อไว้สำหรับการเกษตรกรรมในพื้นที่ประมาณ 12,700 ไร่ ในช่วงฤดูแล้ง หรือในระยะฝนทิ้งช่วงฤดูกาลเพาะปลูกบริเวณที่ราบ เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้ง หรือในช่วงที่ชาวบ้านประสบปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำ ประมาณ 22 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบลดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งตำบลใกล้เคียงที่สามารถช่วยเหลือได้ นอกจากนั้น ยังเพื่อเป็นการยกฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยการสนับสนุนแหล่งน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของผลผลิตทางด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ต้นน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะสามารถยกระดับน้ำใต้ดิน บริเวณป่าไม้ และต้นน้ำ ให้คงความชุ่มชื้นของทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ได้ รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการประปาของอำเภอห้วยยอดในอนาคตข้างหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก "อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว" แห่งนี้ มีขนาดกว้างใหญ่มาก และสามารถจุน้ำได้ถึง 20.40 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเหมาะสำหรับการพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ด้วยการนั่งเรือแบบไฟเบอร์ ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณลำละ 5 คน เดินทางออกจากท่าน้ำ ผ่านท้องน้ำที่ใส และมีคลื่นขนาดย่อมๆ มุ่งตรงไปยังต้นกำเนิดของสายน้ำ ที่อยู่ห่างไกลออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งตลอดสองข้างทางจะเป็นทั้งป่าธรรมชาติ สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน สลับกันไป จนกระทั่งเมื่อเดินทางไปถึงต้นน้ำ บริเวณหุบเขาควนหินแก้ว เหนือน้ำตกหลาด่าน ก็จะแลเห็นโขดหินจำนวนมากมาย ที่มีน้ำไหลลงมาสู่เบื้องล่างอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งบางส่วนยังมีสภาพเป็นแอ่งให้สามารถลงไปเล่นน้ำได้อย่างสนุกสนาน ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยให้ความร่มรื่นชวนให้นั่งหรือนอนพักผ่อน โดยเจ้าของพื้นที่อย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่างิ้ว ได้เข้าไปก่อสร้างศาลาที่พัก และห้องน้ำ-ห้องส้วมเอาไว้ รวมทั้งก่อสร้างระบบประปาเพื่อนำน้ำลงมาใช้ยังบริเวณด้านล่าง ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสะดวกมากขึ้น หลังจากได้เล่นน้ำตกจนชุ่มฉ่ำทั้งตัวและใจแล้ว ก็ต้องนั่งเรือย้อนกลับมายังเส้นทางเดิม เพื่อมุ่งหน้าไปยังบริเวณสันเขื่อน ที่อยู่ห่างไกลออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร โดยจะแลเห็นชาวบ้านนำเรือล่องเข้ามาล่องจับปลาเล็กปลาน้อยไปเป็นอาหาร ด้วยเครื่องมือประมงแบบพื้นบ้าน เช่น เบ็ด กลัด ส่วนบริเวณกลาง "อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว" ก็มีลักษณะเป็นเนินดินสูง ที่ผู้ก่อสร้างตั้งใจเว้นไว้ให้คงอยู่แบบธรรมชาติ แต่ต่อมากลับกลายเป็นสิ่งแปลกๆ ที่ตั้งเด่นอยู่กลางน้ำ เหมาะสำหรับใช้ในการถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เมื่อนั่งเรือไปได้ประมาณ 15 นาที ท้ายสุดก็ถึงบริเวณสันเขื่อน ซึ่งยาวประมาณ 330 เมตร และสูงถึง 40 เมตร (วัดลงไปจนถึงพื้นน้ำ) อันเป็นจุดที่ตั้งของสำนักงาน บ้านพัก และศาลาพักผ่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปบันไดสูงไปบนสันเขื่อน เพื่อชมความงามของธรรมชาติในมุมสูง จนเมื่อหนำใจแล้ว ก็ลงเรือล่องกลับมายังจุดท่าน้ำ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยก่อนจะถึง ยังสามารถแวะชมฝูงปลาจำนวนมาก ที่กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงเอาไว้ในกระชังริมฝั่ง ซึ่งชวนซื้อเอาไปปรุงเป็นอาหารมื้ออร่อย
Your email address will not be published. Required fields are marked *