IMG-LOGO
หน้าแรก   >   สถานที่ท่องเที่ยว   >   สมาคมฮากกา

สมาคมฮากกา

IMG

สมาคมจีนแคะ “สมาคมแห่งแรกในไทย” ธีรวิทย์ สวัสดิบุตร จีนแคะเมืองจีนกับจีนแคะในเมืองไทย นั้นมีความแตกต่างกันหลายประการ ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น แต่ประเพณีบางอย่างก็ได้สืบทอดกันมาไม่ขาดสาย แม้จะไม่หวือหวา แต่ก็ยังคงเดิมอยู่ที่ช่วยกันรักษาความภาคภูมิใจต่อมาคำว่า “จีนแคะ” ต้องให้ความหมายเพื่อเข้าใจ สักเล็กน้อย คำว่า “แคะ” ตรงกับคำว่า “เค่อ” ในภาษาจีนกลาง แปลว่าแขกหรือผู้มาเยือน ซึ่งความหมายนี้มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาหลายชั่วคน เหตุที่เรียกว่า “แขก” นั้น เป็นคำที่ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนใช้เรียกคนจีนที่ลงมาอาศัยอยู่ทางใต้ ตัองขอท้าวความเดิมว่า ในสมัยก่อนที่ราชวงศ์ฮั่นจะแตกนั้น คนจีนแทบจะไม่ได้อยู่ในเขตตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงเลยปล่อยให้แขก “พวกฮวน” อันหมายถึง ชนชาติส่วนน้อยเช่นพวกจ้วง ไต เวียดนาม และอื่น ๆ อาศัยอยู่ ดังนั้นทางราชการจีนในเวลานั้นจึงถือเอาสถานที่ห่างไกลเช่นนั้นเป็นที่สำหรับเนรเทศชาว “ฮั่น” ที่มีความผิด หรือไม่ก็พวกกบฏที่ต้องการส้องสุมกำลังต่อต้านราชวงศ์ก็หลบมาอยู่ในบริเวณนี้ และพวกที่หนีการรังแกของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ทุจริตคอยรีดนาทาเร้น ก็เช่นเดียวกันเนื่องจากความรักอิสรภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่ในประวัติศาสตร์จีนต่อ ๆ มาจะมีการสะสมกำลังของกบฏทางตอนใต้เพื่อยกกำลังไปตีเมืองหลวงที่ฉางอันบ้าง ไคฟงบ้าง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง คนที่เป็นชนชาติส่วนน้อยต่าง ๆ จึงเรียกคนจีนที่อพยพลงมานี้ว่า “เค่อ” หรือ “แคะ” อันเป็นการเรียกคนแปลกหน้า แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมาคำนี้ก็เลือน ๆ ความหมายเดิมไป กลายเป็นคำใช้เรียกคนจีน กลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลกลางตุ้งคาบเกี่ยวมณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมบางอย่างในการดำเนินชีวิตเป็นของตนเองแต่พวกจีนแคะ กลับเรียกตัวเองว่า “ฮากกา” ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกัน การกระจายของชาวจีนแคะไปอยู่ตามที่ต่าง ๆทำให้จีนแคะแยกออกเป็นสองกลุ่มง่าย ๆ คือ พวกแคะลึก กับแคะตื้น แคะลึก หมายถึง จีนแคะที่อยู่ในบริเวณที่อื่นๆ และเป็นชนกลุ่มน้อยในชุมชนอื่น ซึ่งก็มีความผิดแผกทางด้านภาษาที่ใช้บ้างแต่ก็รู้ว่าเป็นจีนแคะอยู่ สังเกตได้จากอาชีพจีนแคะนั้นจะมีความชำนาญในอาชีพทำเครื่องหวาย เครื่องเงิน ทอง เครื่องหนังต่าง ๆ เช่น รองเท้า ซึ่งบางอย่างมีความชำนาญ ที่ถ่ายทอดต่อกันมาไม่มีใครสู้ได้ ความรักอิสรภาพ ไม่ยอมอยู่ให้ใครรังแกของจีนแคะนั้นยังคงแสดงให้เห็นอยู่ต่อมาเป็นระยะ ๆ แม้จะเป็นพวกที่รักความสงบ นักปฏิวัติที่สำคัญของเมืองจีนอย่างท่านซุนยัดเซ็น หรือ ซุนจงซัน “บิดาของประเทศจีนยุคใหม่” ท่านเย่เจี้ยนอิงอดีตรัฐมนตรี กลาโหมและประธานสภาประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นแคะเหมือนกัน อยากทำความเข้าใจในที่นี้ว่า คำว่าจีนแคะ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยนหรือ ไหหลำนั้นไม่ได้หมายถึงแค่สถานที่ หรือชื่อเเซ่แค่นั้น แต่มีความหมายมากกว่านั้น เพราะวิถีชีวิตในสังคมจีนนั้นจะมีการอยู่รวมกลุ่มกันเป็นหมู่บ้าน เป็นเมืองซึ่งมีอาณาเขตพอสมควร คนที่อยู่ในชุมชนเหล่านั้นไม่ว่าจะมีแซ่อะไรก็ตามจะต้องทำความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการอยู่กินประจำวัน มีการแบ่งงานในความรับผิดชอบไม่ว่าจะด้านอาชีพการรักษาปลอดภัยของชุมชน การเสียภาษา การใช้น้ำชลประทาน ตลอดจนการปันส่วนเครื่อง อุปโภคบริโภคในยามจำเป็น เพราะคงเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเมืองจีนนั้นความคงเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เมืองจีนนั้นความแร้นแค้นมีอยู่มากและสงครามก็เกิดบ่อยเหลือเกิน ชุมชนจีนแบบนี้เองเป็นที่มาของคำว่าจีนแต้จิ๋ว จีนแคะ ไหหลำดังกล่าว ซึ่งภาษาทางด้านสังคมวิทยาก็กล่าวว่ามีลักษณะที่เรียกว่า “Clans” หรือจีนว่า “จู๋” ซึ่งต่างจากระบบ “วรรณะ” ของอินเดีย แต่ก็มีเป้าหมายไม่ต่างกันนักในด้านการสร้างความปลอดภัยแก่สมาชิกชุมชน สภาพทางสังคม อย่างนี้เองที่ติดตัวชาวจีนที่เดินทางออกมาจากแผ่นดินแม่มาแสวงหาทางออกของชีวิต คนจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ก็อดไม่ได้ที่จะไปรวมกลุ่มกันขึ้นมาพึ่งพาอาศัยกันในรูปแบบที่เคยเป็นมา ในเมืองไทยเองจะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ชัดเจนจากบรรดาสมาคมชาวจีนที่อยู่นับร้อยสมาคมจีนแคะเองก็เหมือนคนจีนอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวจีนตอนใต้ที่อพยพออกจากเมืองแม่มายังเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ชาวจีนแคะนั้นอาชีพหลักตอนที่อยู่เมืองจีนนั้นก็คือการเกษตรกรรม เพราะดินแดนที่จีนแคะอาศัยอยู่นั้นอยู่ในหุบเขาตอนต้นแม่น้ำ มีเมืองเหมยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพวกแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ปลายแม่น้ำ แล้วย่อมไม่อาจแข่งขันความสามารถทางการค้ากับเขาได้ ส่วนความชำนาญเฉพาะอย่างนั้นก็สู้พวกตอนเหนือที่เก่งเรื่องทำเหมืองไม่ได้อีก ฉะนั้นจึงพบว่า อาชีพของจีนแคะรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยจึงมักเป็นกรรมกรตามท่าเรือเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาเมื่อจีนแคะที่เป็นพวกมีความรู้ขึ้นมาเช่นพวกหมอยาหรือพวกช่างฝีมือที่เคยผ่านโรงเรียนมาบ้างเดินทางเข้ามาก็ทำให้มีคนหลายอาชีพมากขึ้น เพราะว่ากันตามจริงเมืองเหมยนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นเมือง การศึกษาที่สำคัญเมืองหนึ่งของกวางตุ้ง และคนจีนแคะเองนั้นก็เป็นนักศึกษาหาความรู้ที่เก่งคนหนึ่ง แต่ก็มักจะมุ่งเป็นขุนนางจอหงวนหรือซิ่งไฉกัน จึงไม่เก่งการค้าเท่าที่ควร ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ชาวจีนแคะกลุ่มหนึ่งที่ทำธุรกิจในเมืองไทย ๓๐ คน ได้เข้าร่วมลงลายมือชื่อเพื่อทำหนังสือยื่นต่อพระยาสุขุมนัยวินิตเพื่อขอตั้งสโมสรการค้า อย่างเป็นทางการ โดยขอให้พระยาสุขุมวินิตเป็นผู้อุปถัมภ์และบำรุงสมาคม เมื่อได้รับหนังสือแล้ว พระยาสุขุมนัยวินิตได้นำเรื่องขึ้นกราบบังคม ทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาโดยได้เสนอความเห็นว่า “พวกชาติอื่น ๆ คอยดูพวกแคะอยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นการเรียบร้อย ก็จะเอาอย่างบ้าง” ในการยื่นหนังสือครั้งนี้กลุ่มที่ขอตั้งได้แสดงตัวยืนยันความบริสุทธิ์ใจ โดยทำหนังสือว่าได้เลิกประพฤติตัวเป็นอั้งยี่เด็ดขาดและให้เจ้าหน้าที่กองตระเวนไปเก็บเครื่องสัญญาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในที่ประชุมให้หมด ซึ่งทำให้สมเด็จฯกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงพิจารณาเป็นควรให้ตั้งสมาคมได้เพราะการเสนอนั้นไม่ขัดต่อกฏหมาย โดยมีเงื่อนไขว่าให้ตั้งเฉพาะที่กรุงเทพฯ และให้มีสมาชิกที่เป็นจีนแคะจากเมืองจีนและบุตรจีนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองสโมสรจีนแห่งแรกจึงได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ โดยใช้ชื่อว่า “สโมสรจีนกรุงเทพฯ” ที่ถูกต้องตามกฎหมายและรัฐบาลรับรองอย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาที่บีบรัด “ยิวแห่งบูรพทิศ” ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้บทบาทของสมาคมการค้าจีนต่าง ๆ ซบเซาลงไปและสมาคมจีนต้องหันมาดำเนินงานในด้านสังคมสงเคราะห์เพื่อให้สอดคล้องกับกฏหมายและไม่ถูกทางการเพ่งเล็ง ทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลเป็นไปโดยปกติ สมาคมจีนแคะแห่งประเทศไทยซึ่งมีนายเซียวเต็กซู เป็นนายกสมาคมคนแรกได้ดำเนินงานมาด้วยดีนับได้จนถึงทุกวันนี้ก็ ๕๐ ปี (นับแบบจีน) สำหรับผู้ก่อตั้งสมาคมรุ่นแรก ๆ ที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่ต้นตระกูลล่ำซำ ต้นตระกูลห้างใต้ฟ้า เป็นต้น สิ่งที่น่าภาคภูมิใจของสมาคมจีนแคะก็คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาเยือนสมาคม ซึ่งถือเป็นเกียรติยศที่สมาคมได้รับมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ งานหลักของสมาคมจีนแคะนั้น คุณเต็กไหง่ ผู้จัดการสมาคมที่เป็นติดต่อกันมานานถึง ๒๖ ปี เปิดเผยว่าเป็นงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือสมาชิกโดยมีโรงเรียนจิ้นเตอะตั้งอยู่ที่ทำการของสมาคมหลังโรงภาพยนตร์เทียนกัวเทียน โรงพยาบาลจงจินต์อยู่ที่หัวลำโพง โรงเรียนจิ้นเตอะนั้นเปิดสอนภาษาจีนกลาง ปัจจุบันมีนักเรียน ๔๐๐ กว่าคน โดยสมาชิกที่ส่งลูกหลานเข้ามาเรียนจะได้ลดค่าเล่าเรียนแต่ก็รับเด็กทั่วไปด้วยไม่จำเพาะเฉพาะสมาชิก ส่วนโรงพยาบาลนั้นสมาชิกสมาคม จะได้รับการลดค่ารักษา ๒๐ % ของค่ารักษาปรกติ นอกจากนั้นยังมีบริการจ่ายยาจีนฟรีแก่ผู้ที่สนใจไม่เลือกว่าจะเป็นใครอีกด้วยในด้านสังคม ทีมกีฬาฟุตบอลของสมาคมก็เคยมีชื่อเสียงเป็นที่ติดปากของแฟนฟุตบอลมานานแล้ว คือทีม “หวีฝ่อ” (แปลว่ารักสันติภาพ) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อสมาคม ฮากกา แทน คุณเต็กไหง่ให้คำชี้แจงถึงการเปลี่ยนชื่อสมาคมจีนแคะเป็นสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทยว่า “คำว่าจีนแคะนี่รู้จักกันแค่เมืองไทยในโลกนี้ที่ไหนไหนก็เรียกว่าฮากกากันทั้งนั้นแม้ฝรั่งก็เรียกว่าฮากกา ก็เลยเปลี่ยนชื่อให้เข้าใจกันเวลาทำกิจกรรมอะไร” ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฮากกาเข้ามาเนื่องจากสมาคมต่าง ๆ จังหวัดนั้นเดิมที่เป็นสาขาของสมาคมของกรุงเทพฯ ภายหลังได้เเยกออกไปตั้งเป็นสมาคมฮากกาของแต่ละจังหวัด ซึ่งสมาคมต่างจังหวัดที่ใหญ่มากก็อยู่ที่ตรัง เบตง หาดใหญ่ พิษณุโลก และอื่นๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ การเป็นสมาชิกของสมาคมนั้นต้องเสียค่าสมาชิกคนละ ๔๐๐ - ๕๐๐ บาทต่อปี แต่กรรมการต้องเสียมากหน่อยคือ เดือนละ ๓,๕๐๐ บาท ต่อเดือน โดยเฉพาะประธานกิตติมศักดิ์ซึ่งช่วยงานของสมาคมมาโดยตลอดอย่างคุณเกียรติ คุณจรรย์สมร วัธนเวคิน นั้นนับได้ว่ามีส่วนช่วยงานของสมาคมด้วยดี นอกเหนือจากการดำเนินงานด้านในประเทศแล้วสมาคมฮากกายังมีการติดต่อกับสมาคมฮากกาในต่างประเทศทุกมุมโลกไม่ว่าในอินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐ นับพันเดินทางมาชุมนุมกัน นับได้ว่าเป็นการชุมนุมของจีนโพ้นทะเลครั้งใหญ่ในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับที่สมาคมแต้จิ๋วโลกจัดในกรุงเทพฯ ในเวลาใกล้เคียงกัน แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของสมาชิกแล้วกลุ่มแต้จิ๋วจะมากกว่า แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นความสำคัญและสามัคคีของชาวจีนแคะหรือ “ฮากกา” โดยเฉพาะในเมืองไทย แน่นอนว่าการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมเพื่อทำการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามธรรมเนียมตั้งแต่ครั้งอพยพมาจากเมืองจีนนานมาแล้ว เช่นนี้ เป็นสิ่งที่มีความหมายให้ชุมนุมเล็ก ๆ ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของเมืองไทยได้เป็นที่พึ่งของสมาชิก แม้ว่าปัจจุบันคนจีนรุ่นหลังจะกลายเป็นไทยกันหมดแล้ว แต่ธรรมเนียมเก่าแก่เหล่านี้ก็ยังมีบทบาทที่จะดำเนินต่อไปอยู่และคงจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เหมาะสมกับสภาพต่อไปในอนาคต ข้อมูลจากหนังสือ "คนจีน ๒๐๐ ปี ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร" หน้า ๑๑๐ - ๑๑๒ เว็บไซต์ของสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย http://www.hakkathailand.com/home/default_Thai.php?lang=Thai

ตำแหน่งที่ตั้ง


รูปภาพ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Copyright © 2020 Copyright © All rights reserved | This website is made with by trangcity.co